วันเสาร์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ห้องสมุดแหล่งเรียนรู้ที่ผู้บริหารไม่ควรลืมในการปฏิรูปการศึกษา

ห้องสมุดแหล่งเรียนรู้ที่ผู้บริหารไม่ควรลืมในการปฏิรูปการศึกษา

ภายหลังการประกาศใช้พระราชบัญญัติการ ศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ได้ก่อให้เกิดกระแสการตื่นตัวครั้งใหญ่ของครูอาจารย์ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดการศึกษาทั้งหลาย เพราะการศึกษาของประเทศจะต้องมีการปฏิรูป ปรับเปลี่ยนโฉมหน้าใหม่ไปสู่การจัดการศึกษาอบรมให้เกิดความรู้คู่คุณธรรม และจัดการศึกษาให้มีคุณภาพสูงสุดเพื่อทำให้เกิดการพัฒนาลักษณะของคนไทยที่ พึงปรารถนา คือ ดี เก่ง และมีความสุข ให้ปรากฏสัมฤทธิผล

โดยเฉพาะ การปฏิรูปการเรียนรู้ที่เน้นนักเรียนเป็นสำคัญซึ่งถือว่าเป็นหัวใจของการ ปฏิรูปการศึกษา ดังในมาตรา 24 ได้กำหนดกระบวนการเรียนรู้ว่า ต้องจัดเนื้อหาสาระและกิจกรรมให้สอดคล้องกับความสนใจ ความถนัด และความแตกต่างของผู้เรียน ฝึกทักษะกระบวนการคิด การจัดการ การเผชิญ สถานการณ์และประยุกต์ใช้เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา ให้ผู้เรียนเรียนรู้จาก ประสบการณ์จริง ฝึกการปฏิบัติให้ ทำได้ คิดเป็น ทำเป็น รักการอ่าน และเกิดการใฝ่รู้อย่างต่อเนื่อง ผู้สอนสามารถจัดบรรยากาศ สภาพแวดล้อม สื่อการเรียน อำนวยความสะดวกให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ทั้งนี้ ผู้สอนผู้เรียนอาจเรียนรู้ไปพร้อมกัน จากสื่อและแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย อีกทั้งในมาตรา 25 กำหนดบทบาทรัฐในการส่งเสริมแหล่งเรียนรู้ โดยการส่งเสริมการดำเนินงานและจัดตั้งแหล่งเรียนรู้ตลอกชีวิต ทุกรูปแบบ อย่างเพียงพอและมีประสิทธิภาพ จึงกล่าวได้ว่า ห้องสมุดเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญและสนองต่อการปฏิรูปการศึกษา เพราะห้องสมุดโรงเรียนเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนและเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา ที่มีการจัดประสบการณ์ทั้งมวลให้แก่เด็กตามการปฏิรูปการเรียนรู้ และหลักสูตรใหม่ คือ มุ่งให้นักเรียนเรียนรู้ด้วยตนเองตามความสนใจ ด้วยการค้นคว้าแสดงหาความรู้ เพื่อนำไปสู่การคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น รักการอ่าน และเกิดการใฝ่รู้อย่างต่อเนื่อง

"ห้องสมุดโรงเรียนเป็นส่วนหนึ่ง
ของโรงเรียนและเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา
ที่มีการจัดประสบการณ์ทั้งมวลให้แก่เด็ก
ตามการปฏิรูปการเรียนรู้และหลักสูตรใหม่"

ความสำคัญของปัญหาห้องสมุด

ความ ต้องการห้องสมุดโรงเรียนมีมานานแล้วยิ่งในการปฏิรูปการเรียนรู้และในหลัก สูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2544 ความต้องการยิ่งเด่นชัดมากขึ้น เพราะการปฏิรูปการเรียนรู้และหลักสูตรใหม่นี้เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญและส่ง เสริมให้ผู้เรียนรู้จักศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง ทำงานเป็นกลุ่ม นำกระบวนการเรียนรู้และกระบวนการทางวิทยาศาสตร์มาใช้มากขึ้น สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติก็ได้ให้ความช่วยเหลือ สนับสนุนให้โรงเรียนมีห้องสมุดโดยจัดสรรงบประมาณเป็นค่าหนังสือแก่ห้องสมุด โรงเรียนทุกโรงเรียนและทุกปี โดยมีวัตถุประสงค์สนับสนุนให้โรงเรียนมีห้องสมุด คือ
เพื่อให้โรงเรียนมีห้องสมุดเป็นแหล่งค้นคว้าความรู้และส่งเสริมความสามารถในการอ่านของนักเรียนและประชาชนทั่วไปในชุมชนนั้น
เพื่อให้ห้องสมุดเป็นแหล่งสำหรับครูใช้ประโยชน์ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ที่เน้นให้นักเรียนได้ศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองมากขึ้น
เพื่อเสริมสร้างลักษณะนิสัยบางประการของนักเรียนในด้านรักการอ่าน การจัด การเก็บรักษาหนังสือ และการศึกษาหาความรู้ด้วยตนเอง
นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ ยังคาดหวังการบริหารงานในระบบกลุ่มโรงเรียนช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้จัด ให้มีห้องสมุดประจำศูนย์วิชาการกลุ่มโรงเรียนแต่เป็นที่น่าเสียดาย การดำเนินงานห้องสมุดกลุ่มโรงเรียนไม่ได้รับการเอาใจใส่ จนเรียกได้ว่าล้มเหลวไปแล้ว รวมทั้งโรงเรียนประถมศึกษาหลายแห่งก็ยังไม่สามารถสนองเจตนารมณ์ตามวัตถุ ประสงค์ของสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติได้ ทั้งนี้มีข้อจำกัดหลายประการ เช่น
จำนวนห้องเรียนมีจำกัด ไม่สามารถจัดแบ่งห้องเรียนเพื่อจัดเป็นห้องสมุดได้
โรงเรียนขาดวัสดุ อุปกรณ์ ในการจัดเก็บรักษาและวางหนังสือ
โรงเรียนขาดบุคลากรหรือครูที่จะทำหน้าที่ดูแลห้องสมุด
โรงเรียนไม่สามารถจัดหาหนังสือหรือสื่อ กิจกรรมส่งเสริมการอ่านเพื่อเสริมความรู้แก่นักเรียน
จาก ข้อจำกัดเหล่านี้เป็นเหตุให้การดำเนินงานห้องสมุดโรงเรียนไม่เจริญก้าวหน้า เป็นเพียงสถานที่เก็บหนังสือเท่านั้น ขาดการกระตุ้นให้นักเรียนเข้าไปใช้ห้องสมุด ครูไม่ใช้ห้องสมุดให้เป็นประโยชน์ในการเรียนการสอน หนังสือมีน้อยไม่ตรงตามความต้องการของผู้ใช้ ขาดครูที่ทำหน้าที่โดยตรง แต่ข้อจำกัดเหล่านี้ไม่ใช่ปัญหาสำคัญถ้าผู้บริหารและครูทุกคนคำนึงถึงความ สำคัญของห้องสมุดจึงจำเป็นในการดำเนินงานห้องสมุดโรงเรียน
ปัจจุบัน พบว่าผู้บริหารโรงเรียนประถมศึกษาพยายามจัดให้มีห้องสมุดในโรงเรียนตามสภาพ โรงเรียนนั้นๆ บางแห่งซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ก็สามารถจัดได้ดีตามมาตรฐาน แต่ส่วนใหญ่ยังดำเนินงานห้องสมุดไม่ได้มาตรฐาน หรือไม่ได้เน้นเป็นนโยบาย เพียงจัดขึ้นมุมใดมุมหนึ่งหรือห้องใดห้องหนึ่งเป็นที่เก็บรวบรวมหนังสือ เท่านั้น การบริการหรือจัดกิจกรรมส่งเสริมกระตุ้นให้นักเรียนมาใช้ห้องสมุดยังไม่ได้ ผลเต็มที่ ดังนั้น โรงเรียนจึงควรดำเนินการดังนี้
โรงเรียนควรมีห้องสมุดเป็นอาคารเอกเทศเป็นห้อง เป็นมุม อย่างใดอย่างหนึ่ง
วัสดุครุภัณฑ์ที่สำคัญในห้องสมุด ควรมีหนังสือทั่วไป หนังสือภาพ การ์ตูน หนังสืออ้างอิง เช่น พจนานุกรม สารานุกรม วารสารสำหรับเด็ก จุลสารของหน่วยงานต่างๆ กฤตภาค ผลงานรวมเล่มของนักเรียน หนังสือพิมพ์บอร์ดจัดนิทรรศการ โต๊ะ เก้าอี้ ชั้นวางหนังสือ บัตรรายการ วัสดุซ่อมหนังสือ บุคลากร ซึ่งจะต้องมีคุณสมบัติโดยสรุป คือ มีความรู้ทางบรรณารักษ์ศาสตร์ รักการทำงาน ห้องสมุด มีมนุษยสัมพันธ์ดี ควรมีอาสาสมัครซึ่งมาจากนักเรียน หรือ บุคคลในท้องถิ่นมาช่วยงานห้องสมุด
"ห้องสมุดโรงเรียนมิใช่แต่เพียงเป็นสถานที่ที่จัดเก็บหนังสือ
โดยเฉพาะหนังสือแบบเรียนหรือเพียงแต่จัดห้องสมุดให้สวย
ไว้เพื่อดูสวยงามเป็นสิ่งประดับอย่างหนึ่งของโรงเรียนเท่านั้น
แต่ห้องสมุดจะต้องเป็นแหล่งที่จะให้ประสบการณ์การเรียนรู้ต่างๆ"
กิจกรรมที่ห้องสมุดควรจัด ได้แก่ เล่านิทาน เล่าเกร็ดความรู้ ละคร เกม ทายปัญหา แนะนำหนังสือ ทำหนังสือ จัดนิทรรศการ แนะนำงานอดิเรก จัดมุมสบาย ฯลฯ กิจกรรมเหล่านี้จัดตามโอกาส ต่างๆ หรือจัดเป็นประจำตามกำหนดเวลาที่แน่นอน เช่น จัดในช่วงพักกลางวันของวันใดวันหนึ่งทุกสัปดาห์
งานบริการ เช่น เปิดบริการให้ยืมแก่นักเรียน เอื้อเฟื้อแก่บุคคลในชุมชน งานประชาสัมพันธ์ห้องสมุดทั้งในและนอกโรงเรียน ห้อง สมุดโรงเรียนจึงมิใช่แต่เพียงเป็นสถานที่ที่จัดเก็บหนังสือ โดยเฉพาะหนังสือแบบเรียน หรือเพียงแต่จัดห้องสมุดให้สวยไว้เพื่อดูสวยงามเป็นสิ่งประดับอย่างหนึ่ง ของโรงเรียนเท่านั้น แต่ห้องสมุดจะต้องเป็นแหล่งที่จะให้ประสบการณ์การเรียนรู้ต่างๆ มีเนื้อที่ ทรัพยากร ครุภัณฑ์ และกิจกรรมเพื่อกระตุ้นการใช้ มีสภาพแวดล้อมในการเชิญชวนนักเรียนมาใช้ โดยเฉพาะกิจกรรมห้องสมุดและการบริการอันเป็นหัวใจของงานห้องสมุด

บทบาทของผู้บริหารในการส่งเสริมห้องสมุดโรงเรียน
ผู้บริหารสถานศึกษาเป็นบุคคลสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้งานห้องสมุดก้าวหน้าไปได้ด้วยดีจึงควรมีบทบาทพอสรุปได้ดังนี้
ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการจัดห้องสมุดโรงเรียนและมุมหนังสือ
เน้นความสำคัญของห้องสมุดโรงเรียนว่าเป็นเสมือนหัวใจของงานวิชาการ การปฏิรูปการเรียนรู้
จัดบุคลากรเข้าทำงานอย่างเหมาะสม เพราะครูที่ทำหน้าที่บรรณารักษ์ก็เป็นตัวจักรสำคัญถึงแม้ว่าผู้บริหารจะให้ การสนับสนุนอย่างดี แต่ถ้าครูบรรณารักษ์ขาดคุณภาพ ใจไม่รักงานห้องสมุดไม่มีความสามารถจัดกิจกรรมงานห้องสมุดได้โรงเรียนนั้น ก็ประสบความล้มเหลวในการดำเนินงานได้เช่นกันให้การสนับสนุนทางการเงิน
สนับสนุนในเรื่องการจัดหาสถานที่ วัสดุ ครุภัณฑ์ และอื่นๆ ตามสภาพของห้องสมุด
สนับสนุนการจัดบริการและกิจกรรมห้องสมุด
เป็นที่ปรึกษาแก่คณะทำงานห้องสมุดและครูทำหน้าที่บรรณารักษ์
นิเทศและติดตามผลการปฏิบัติงานห้องสมุดโรงเรียนเป็นระยะๆ
ห้อง สมุดโรงเรียนจะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ที่ตั้ง ไว้หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับผู้บริหารโรงเรียนว่าได้ให้ความสำคัญ ให้ความสนใจ ให้การสนับสนุนด้านต่างๆ นิเทศและติดตามงานห้องสมุดมากน้อยเพียงใด

สรุป

จากการปฏิรูปการเรียนรู้โดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ การ ประกาศใช้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2544 โรงเรียนต้องจัดแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย ไม่จำกัดอยู่แต่เฉพาะหนังสือแบบเรียนและคำสอนของครูในชั้นเรียนเท่านั้น ครูและนักเรียนจะต้องพยายามร่วมกันวางแผนการเรียนการสอนให้ผู้เรียนมีโอกาส ได้เรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย ที่สอดคล้องกับการดำรงชีวิตในครอบครัวชุมชน และท้องถิ่น
ดังนั้น แหล่งเรียนรู้ที่เป็นหัวใจของโรงเรียนก็คือห้องสมุด เพราะห้องสมุดเป็นศูนย์กลางของข้อมูลการเรียนการสอน เป็นศูนย์กลางแห่งการศึกษาค้นคว้า เป็นศูนย์กลางแห่งความงดงามด้านจิตใจ และเป็นศูนย์กลางแห่งการแลกเปลี่ยนความรู้ความคิด โรงเรียนต้องพยายามจัดให้มีห้องสมุด ส่งเสริมและฝึกให้นักเรียนรู้จักค้นคว้า รักการอ่านจนเป็นนิสัย ความรู้และประสบการณ์ก็จะกว้างขวางขึ้น เพียงผู้บริหารสถานศึกษาให้ความสำคัญห้องสมุดทัดเทียมกันหรือมากกว่าการ พัฒนาด้านวัตถุอื่นๆ ก็จะช่วยให้ห้องสมุดเจริญขึ้นได้ แทนที่จะหาเงินมาสร้างรั้วและป้ายชื่อโรงเรียนใหญ่โตราคาหลายแสนบาทได้แต่ ห้องสมุดกลับกลายเป็นมุมหนังสือเก่าๆ เต็มไปด้วยฝุ่น ขาดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านที่กระตุ้นนักเรียนเข้ามาใช้ จึงควรหันมาให้ความสำคัญและอย่าลืมงานห้องสมุด


ชูศักรวิชญ์ แสนปัญญา
ที่มาข้อมูล : วารสารวิชาการ ปีที่ 6 ฉบับที่ 9 กันยายน 2546
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
ที่มาเว็บ : https://www.myfirstbrain.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น